เปิดดูภาพเก่าๆ เจอภาพตัวเองตอนไปบริจาคเลือดหลายรูปจากหลายวาระ นึกถึงครั้งเริ่มบริจาคเลือดครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๓๗ ที่สภากาชาดไทย ตั้งแต่รุ่นต้มเข็ม บริจาคเลือดหนึ่งครั้งต้องโดนเข็มจิ้มอย่างน้อยสองที เข็มแรกเป็นยาชา เข็มที่สองถึงเป็นเข็มเจาะเก็บเลือด สำหรับผู้โชคดีที่หาเส้นยากอาจจะโดนเจาะมากกว่าสองรู กระทั่งต่อมายกเลิกการฉีดยาชา เราผู้บริจาคก็สงสัยว่าทำไมไม่ฉีดยาชาให้ พี่เจ้าหน้าที่กาชาดบอกว่าการฉีดยาชาไม่ช่วยอะไรทำให้ผู้บริจาคเจ็บตัวมากเกินความจำเป็น นับแต่นั้นก็จิ้มเข็มใหญ่รูเดียวเลยค่ะ พอเก็บเลือดตามจำนวนที่ต้องการจึงค่อยเก็บเลือดลงหลอดแก้ว เป็นขั้นตอนที่เราชอบที่สุดคือปล่อยเลือดไหลจากปลายท่อที่ตัดแล้ว เลือดก็ไหลจากแขนผ่านเข็มและท่อสั้นๆลงไปในหลอดแก้วเลย พอใกล้จะเต็มหลอดเจ้าหน้าที่ก็จะเอากรรไกรหนีบปลายสายยางไว้ไม่ให้เลือดไหลล้นหลอดค่ะ เห็นพัฒนาการมาเรื่อยจากเข็มต้มมาเป็นเข็มใช้แล้วทิ้ง จนมีเข็มติดปลายถุง เลือด กระทั่งเดี๋ยวนี้มีเข็มติดถุงแล้วยังแถมมีถุงห้อยกันมาเป็นพวงเลย เตียงบริจาคแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน แต่เดิมที่สภากาชาดใช้เตียงแบบนอนราบ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นเก้าอี้สีชมพูที่พนักโค้งๆ เขาว่าระหว่างนั่งบริจาคจะได้ความรู้สึกดังว่าเข้าไปอยู่ในครรภ์มารดาอีกครั้งหนึ่ง เก้าอี้บริจาคบางโรงพยาบาลก็เป็นโซฟาตัวใหญ่ยักษ์ นั่งสบายจนไม่อยากจะลุกเลยค่ะ ไม่ว่าเครื่องไม้เครื่องมือจะปรับเปลี่ยนไปกี่หน แต่ความรู้สึกของเราในฐานะผู้บริจาคโลหิตไม่เคยเปลี่ยนเลย คือรู้สึกอิ่มเอมที่ได้สละเลือดในกายเราไว้ต่อชีวิตให้ผู้อื่น
หากถามว่าครั้งไหนที่ประทับใจที่สุดในการบริจาคเลือด คงเป็นครั้งที่เกิดเหตุการณ์ซึนามิ คราวนั้นคนไปต่อคิวบริจาคเลือดเยอะมากๆ รอกันค่อนวันกว่าจะได้บริจาค กาชาดก็ต้องจัดห้องจัดตึกเปิดรับเลือดเป็นกรณีพิเศษ คนเป็นพันๆต่อแถวกันแบบไม่มีบ่นสักคำ ไม่มีการปะทะหรือแก่งแย่งแซงคิวทนรอไม่ได้ ทุกคนต่างตั้งใจมาให้เลือดของตน บ้างก็รอกัน ๖-๘ ชั่วโมง เพื่อสละเลือดส่งไปช่วยผู้ประสบภัย ตอนนั้นกาชาดขาดเลือดกรุ๊ปพิเศษของชาวตะวันตก ก็มีการประชาสัมพันธ์ระดมหาผู้บริจาคที่มีเลือดกลุ่มพิเศษ ช่วงนั้นก็จะเห็นฝรั่งไปบริจาคเลือดกันเยอะเลยค่ะ
ที่มาที่ไปของการบริจาคเลือด ต้องย้อนเวลากลับไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองค่ะ ครั้งนั้นทหารบาดเจ็บและล้มตายมากมาย ทางหน่วยเแพทย์ของกองกำลังพันธมิตรจึงร้องขอให้กาชาดของแต่ละประเทศจัดตั้งหน่วยรับบริจาคโลหิตขึ้นเพื่อขอรับบริจาคเลือดจากประชาชนมาช่วยชีวิตเหล่าทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม แม้สงครามจะยุติลงแต่งานรับบริจาคโลหิตยังดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน ช่วงแรกๆของการรับบริจาคโลหิตในประเทศไทย คนไทยก็ยังไม่นิยมบริจาคกันมากนัก กรณีที่โรงพยาบาลต้องใช้เลือดเพื่อรักษาคนไข้ก็จะต้องขอจากญาติของผู้ป่วย บางครั้งก็ถึงขนาดต้องซื้อขายเลือดกันเลยทีเดียว
เมื่อปี ๒๔๙๔ ในการประชุมสันนิบาตกาชาดครั้งที่ ๑๗ ที่กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ได้มีมติให้กาชาดแต่ละประเทศจัดตั้งงานบริการโลหิตขึ้น ภายใต้หลักที่ว่า “บริจาคโลหิตด้วยจิตศรัทธา ไม่หวังผลหรือสิ่งตอบแทนใดๆ” หลังจากการประชุมสันนิบาตกาชาดครั้งที่ ๑๗ ศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม บูรณะนนท์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดไทยในขณะนั้น ได้นำมติดังกล่าวเสนอต่อกรรมกาสภากาชาดไทยเพื่อขอจัดตั้งแผนกบริการโลหิตขึ้น เพื่อตอบสนองต่อข้อเสนอของกาชาดสากล งานบริการโลหิตสภากาชาดไทย จึงได้เริ่มกิจการขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๙๕
แถมอีกนิดนะคะ สำหรับเพื่อนๆที่บริจาคโลหิตและคิดจะไปบริจาค ธาตุเหล็กที่ทางกาชาดหรือโรงพยาบาลแจกให้ผู้บริจาคสำคัญมากนะคะ ควรรับประทานให้หมดทุกครั้ง เพราะธาตุเหล็กที่ร่างกายเราได้รับจากอาหารในชีวิตประจำวันไม่เพียงพอสำหรับการฟื้นฟูสภาพเลือดของเราให้ทันในการบริจาคครั้งต่อไปในอีกสามเดือนข้างหน้าค่ะ ทางสภากาชาดไทยเคยมีการสอบถามผู้บริจาคโลหิตประจำที่เลือดจาง ปรากฏว่าส่วนใหญ่ไม่ยอมรับประทานธาตุเหล็กให้ครบค่ะ
ท่านใดสนใจไปบริจาคโลหิต ศึกษาคุณสมบัติของผู้บริจาคและการเตรียมตัวได้จากลิ้งค์นี้เลยค่ะ
http://blood.redcross.or.th/content/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%95
ประวัติศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
https://blood.redcross.or.th/content/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4
๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑
Authored by : @iceplease
เมื่อก่อนอยู่แถวสีลมเดินไปบริจาคที่สภากาชาติทุกสามเดือน
Downvoting a post can decrease pending rewards and make it less visible. Common reasons:
Submit
สาธุค่ะ ^^
โอวัลตินที่สภากาชาดอร่อย
เติมบ่อยๆเขาก็ไม่ว่ากันค่ะ
Downvoting a post can decrease pending rewards and make it less visible. Common reasons:
Submit
ไม่เคยกล้าสักครั้งเลยค่ะ
Downvoting a post can decrease pending rewards and make it less visible. Common reasons:
Submit
ลองดูค่ะ ผ่านครั้งแรกได้ ก็สบายแล้ว
แค่เข็มดูใหญ่เฉยๆค่ะ ไม่เจ็บมากค่ะ
เพราะเข็มคมกริบระดับซุปเปอร์คมค่ะ
Downvoting a post can decrease pending rewards and make it less visible. Common reasons:
Submit
เยี่ยมเลยครับ👍
Downvoting a post can decrease pending rewards and make it less visible. Common reasons:
Submit
ขอบคุณค่ะ :)
Downvoting a post can decrease pending rewards and make it less visible. Common reasons:
Submit
มด เคยบริจาคเลือดตอนทำงานบริษัททุกๆสี่เดือน..แต่หลังจากลาออกมาไม่ได้บริจาคอีกเลย..จำได้ว่าบริจาคครั้งแรกเป็นลมเลยค่ะ..เขาให้นอนพักนิ่งๆก่อนหลังบริจาคแต่เราเห็นคนรอเยอะเลยรีบลุกจากเตียงมารู้สึกตัวอีกทีตอนได้กลิ่นแอมโมเนียที่แสนจะฉุนจ่ออยู่ที่จมูก😊😊😊
Downvoting a post can decrease pending rewards and make it less visible. Common reasons:
Submit
คุณมดใจสู้มากค่ะ ขนาดครั้งแรกเป็นลม ยังบริจาคทุกสี่เดือนได้ ชื่นชมค่ะ ^^
Downvoting a post can decrease pending rewards and make it less visible. Common reasons:
Submit