สวัสดีเพื่อนชาวไทยทุกท่าน
---> ประเพณีแซนโฎนตา ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่ลูกหลานจะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ประเพณีวันสารทของชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น "วันสารทไทย" หรือว่า "วันสารทจีน ล้วนก็เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้ครอบครัวและเครือญาติได้กลับมาพบหน้ากัน เพื่อทำบุญให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ชาวไทยเชื้อสายเขมรเราก็มี ประเพณีอันดีงามนี้ด้วยเช่นกันครับ "วันสารทเขมร" หรือที่เรียกกันว่า "ประเพณีแซนโฎนตา" จะตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ในปี 2561 วันแซนโฎนตา ตรงกับวันที่ 8 ตุลาคมครับ ตั้งแต่แม่เสีย ผมก็จะกลับบ้านเกิดไปร่วมพิธีประเพณีนี้ตลอดคับ มีปีที่แล้วที่ผมไม่ได้กลับครับ เนื่องจากสภาวะทางการเงินไม่มั่นคงแข็งแรง แต่ปีนี้มีน้อยแค่ไหนก็จะไปครับ
---> คำว่า "ไง" หมายถึง วัน คำว่า "แซน" ก็หมายถึง การเซ่นไหว้ การบวงสรวง คำว่า "โฎน" หมายถึง ย่าหรือยาย คำว่า "ตา" หมายถึง ปู่หรือตา ดังนั้นประเพณีนี้จึงหมายถึง การเซ่นไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวเขมร
ในช่วงเวลานี้ ลูกหลานชาวเขมรที่ไปทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ จะเดินทางกลับมาหาครอบครัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ
---> ทั้งนี้ทั้งนั้น ชาวเขมรเรามีความเชื่อว่า เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ประตูยมโลกจะเปิด เพื่อให้ผู้รับกรรมที่อยู่ในนรกได้เดินทางมาเยี่ยมญาติได้ ชาวเขมรจึงจัดทำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ในตอนเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 และพอรุ่งเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ก็จะนำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด เรียกว่า "วันเบ็นตูจ" โดยเชื่อว่าผีจะออกมาจากยมโลกได้ 15 วัน หลังจากนั้นต้องกลับไปรับกรรมในยมโลกตามเดิม จากวันเบ็นตูจนับไปอีก 15 วัน (นับจากวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10) จะตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี คือ "วันเบ็นทม" ซึ่งเป็นวันที่ประกอบพิธีแซนโฎนตา
---> สำหรับการประกอบพิธีแซนโฎนตา แต่ละบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาว-หวาน ผลไม้ อุปกรณ์ต่าง ๆ และเพื่อเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน เซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน ประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตาที่บ้าน และประกอบพิธีกรรมที่วัด โดยการทำเช่นนี้ก็เพื่อให้บรรพบุรุษรับผลบุญกุศลที่อุทิศไป ทำให้บ่วงกรรมที่มีบรรเทาลง ซึ่งชาวเขมรยึดถือประเพณีนี้สืบทอดกันมาอย่างยาวนานด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าในยุคของตนได้แซนโฎนตาให้แก่ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ไปแล้ว รุ่นลูกจะต้องแซนโฎนตาให้ตนเหมือนกัน เพื่อให้ลูกหลานต้องปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ กันไปไม่สิ้นสุด สำหรับโพสนี้ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ก่อนครับ โพสหน้าเจอกันใหม่ สวัสดีครับ
ขอบคุณทุกๆคะแนนโหวต และกดติดตาม
โชคดีมีตังใช้ กล / @ kolkamkwan 22-09-2018