สวัสดีครับชาว steemit เรามาทำความรู้จัก"ไวรัสโรต้า"

in thai •  7 years ago 

diarrhea.jpgกรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลาน โดยเฉพาะเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด เพราะอาจป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า หลังพบผู้เสียชีวิตจากโรคอุจจาระร่วง 3 ใน 4 ราย เป็นเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า ที่สำคัญในกลุ่มนี้จะมีการติดเชื้อซ้ำได้หลายครั้ง หมั่นสังเกตอาการ รับประทานอาหารที่ปรุง “สุก ร้อน สะอาด” และหมั่นล้างมือบ่อยๆ

นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงฤดูหนาว ความเสี่ยงของการที่ประชาชนจะป่วยด้วยโรคติดต่อก็อาจเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเดินหายใจ อันเป็นโรคติดต่อที่ทำให้ประชาชนป่วยเป็นจำนวนมาก เช่น โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม เป็นต้น นอกจากนี้ โรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่ต้องระวังเป็นพิเศษในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คือ โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า

โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า คืออะไร?

ไวรัสโรต้า เป็นไวรัสกลุ่มอาร์เอ็นเอ (Double-stranded RNA virus) ใน ตระกูล (Family) Reoviridae ซึ่งมี 7 สายพันธุ์ (A, B, C, D, E, F, G) เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบเกือบทุกคน จะติดเชื้อไวรัสนี้อย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า ติดต่อโดยการรับเชื้อเข้าทางปาก จากการปนเปื้อนของเชื้อในน้ำดื่มและน้ำใช้ หรือการสัมผัสกับเครื่องใช้หรือของเล่นต่างๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสโรต้า โดยมักจะมีอาการภายใน 2-10 วันหลังการรับเชื้อเข้าไป

เชื้อที่ออกจากร่างกาย ไปติดตามสิ่งของต่างๆ จะคงทนอยู่นานหลายเดือน หากไม่เช็ดออกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งเชื้อเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดการติดโรคได้เช่นกัน

โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า มีอาการอย่างไร?

อาการของโรคคือ ท้องเสีย ถ่ายเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า มีไข้สูงและอาเจียน ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการขาดน้ำ หากรับการรักษาไม่ทันหรือไม่เหมาะสม อาจเกิดภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ จากข้อมูลยังพบอีกว่า ก่อนอายุ 5 ปีเด็กทุกคนจะมีการติดเชื้อซ้ำได้หลายครั้ง

ใครเสี่ยงต่อโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า?

โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และสถานที่ที่พบมาก คือ สถานสงเคราะห์เด็ก โรงพยาบาล นอกจากนี้ อาจพบการติดเชื้อได้ในผู้ดูแลเด็ก ผู้ปกครอง และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงตลอดปี 2560 จำนวน 985,544 ราย เสียชีวิต 4 ราย ในจำนวนนี้เป็นการป่วยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 226,909 ราย คิดเป็นร้อยละ 23 ของผู้ป่วยทั้งหมด และเสียชีวิต 3 ราย ซึ่งจากการสำรวจของกรมควบคุมโรค เมื่อ ปี 2544-2546 พบว่า การป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า ประมาณร้อยละ 43 และจะมีเด็กป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงที่เข้ารับการรักษาในคลินิก ประมาณ 131,000 รายต่อปี และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 56,000 รายต่อปี

โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า รักษาได้อย่างไร?

เป็นเรื่องจริงที่ว่า ไวรัสโรต้า ไม่มียารักษาเฉพาะ แต่สามารถรักษาผู้ป่วยให้หายได้ด้วยวิธีรักษาตามอาการ โดยให้สารละลายเกลือแร่กินให้เพียงพอกับน้ำ และเกลือแร่ที่เสียไปกับการอาเจียน และท้องร่วง ท้องเสีย ท้องเดินซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการรักษา หากเด็กกินไม่ได้ ต้องให้น้ำ/เกลือแร่ทดแทนทางหลอดเลือดดำ โดยปกติเด็กมักจะไม่ค่อยยอมกิน หลักการที่ใช้ได้ผลส่วนมากคือ พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก ต้องเข้าใจและพยายาม ไม่ยอมกินต้องพยายามป้อนให้ได้ตลอด อาเจียนออก ก็ป้อนใหม่ ซึ่งอาการอาเจียนมักเกิดอยู่ประ มาณไม่เกิน 2 วัน

เมื่อมีไข้ รักษาอาการไข้โดยเช็ดตัวและให้ยาลดไข้ ให้ยาขับลมหากปวดท้องหรือท้อง อืด ซึ่งการให้เกลือแร่ที่เพียงพอจะช่วยลดอาการท้องอืด เพราะมีเกลือแร่โปแตสเซียม (Potas sium) เพียงพอที่ช่วยทำให้ลำไส้บีบตัวได้ดีขึ้น หากเด็กหยุดอาเจียน ให้รับประทานข้าวต้ม หรือโจ๊กได้ หากเด็กถ่ายเป็นน้ำหลายวันและเด็กดื่มนมวัวอาจเกิดภาวะขาดเอนไซม์แลคเตสที่ใช้ย่อยนมวัว ควรเปลี่ยนเป็นนมที่ไม่มีแลคโตส หรือให้นมถั่วเหลือง ในเด็กที่ให้นมแม่ ให้นมแม่ต่อไปโดยไม่ต้องเปลี่ยนนม

การรักษาที่ดีคือให้น้ำและเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอและให้ทันเวลา เด็กจะไม่ซึม ปัสสาวะได้ดี ไม่หอบเหนื่อย เกลือแร่ที่มีขายเป็นซองใช้ได้ ดูการผสมให้ถูกต้องว่า 1 ซองผสมน้ำเท่าใด (อ่านจากฉลากยา หรือที่เขียนไว้บนซองยา)

หากหาเกลือแร่ไม่ได้ ให้ทำน้ำเกลือแร่เอง โดยใช้น้ำตาลทราย 3 ช้อนชา (ช้อนยาเด็ก 3 ช้อนชาได้เท่ากับ 15 กรัม) ผสมน้ำสะอาด 750 มิลลิลิตร (ขวดน้ำปลาที่มีคอคอด หรือ ใช้ขวดนม 8 ออนซ์ 3 ขวด กับอีก 1 ออนซ์) ใส่เกลือประมาณครึ่งช้อนชาต้มให้เดือด และทิ้งไว้ให้เย็น หรือใช้น้ำข้าวเติมเกลือและน้ำตาล หรือ ป้อนด้วยน้ำแกงจืด

โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ป้องกันอย่างไร?

การป้องกันโรคอุจจาระร่วงสามารถทำได้ดังนี้

หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลล้างมือทั้งก่อนปรุงประกอบอาหาร และภายหลังการใช้ห้องน้ำ

กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหารเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน

รับประทานอาหารที่ปรุง “สุก ร้อน สะอาด” ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้รับประทานในวันต่อไป ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง และการเก็บรักษาที่ปรุงสุกแล้ว ควรแยกจากอาหารหรือวัตถุดิบที่ยังไม่ปรุง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน

ปัจจุบัน ไวรัสโรต้า มีวัคซีนในการป้องกัน แต่ช่วงที่ให้วัคซีนกิน ครั้งแรก จะอยู่ในช่วง 6 สัปดาห์ถึง 4 เดือน และจะต้องให้ครบ ภายใน 8 เดือน หลัง 8 เดือนไปแล้ว เราจะไม่ให้วัคซีนป้องกันไวรัส ทั้งนี้เพราะในเด็กที่อายุมาก การเริ่มให้วัคซีนอาจจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดลำไส้กลืนกัน จึงไม่แนะนำให้วัคซีนหลังอายุ 8 เดือน
ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากเริ่มมีความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที

Credit www.sanook.com

Authors get paid when people like you upvote their post.
If you enjoyed what you read here, create your account today and start earning FREE STEEM!
Sort Order:  

Hi! I am a robot. I just upvoted you! I found similar content that readers might be interested in:
https://www.sanook.com/health/9381/