สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ทุกคน อากาศช่วงนี้มันร้อนจริงๆ ค่ะ ไม่ว่าจะทำงานกลางแดด หรืออยู่ในร่ม ยกเว้นอยู่ในห้องแอร์ อากาศร้อนแบบนี้ใกล้ถึงฤดูทำนาแล้ว ฝนยังไม่ตกลงมาสักกะเม็ดเลย แล้งจริงๆ ปีนี้ เราไม่รู้จะเขียนอะไรดี พอดีเห็นมีการประกวดเกี่ยวกับแมลง ก็เลยส่งภาพแมงทับปีกสวยเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งก็เป็นภาพเก่าเมื่อปีที่แล้วค่ะ ปีนี้ฝนยังไม่มี ต้นไม้ยังยืนต้นตาย แมลงต่างๆ ก็มุดอยู่ในดิน รอวันฝนตกลงมา ทำให้ต้นไม้เขียวชอุ่ม เวลานั้นแหล่ะพวกมันจะออกมาจากใต้ดิน หรือรังของมัน ตอนนี้เอารูปเก่าที่เราถ่ายไว้ตอนไปทำนาไปพลางดูพลางๆ ก่อน
ว่ากันว่าสีสันอันงดเงามของปีกแมงทับ นั้นอยู่ยั้งยืนยงคงทนอยู่กว่า 50 ปี จึงจะสลายไป แมงทับจะมีสีเขียวมรกตมันวาว บางตัวอาจมีสีเขียวเหลือบทองน้ำเงิน หรือทองแดง ปกติพบแมลงทับเพียงปีละครั้งในช่วงฤดูเข้าพรรษา ระหว่างเดือน กรกฎาคม ถึงตุลาคม แมงทับจะพบแพร่กระจายทั่วทุกภาพของประเทศ แมงทับจะปรากฎให้เห็นเพียงปีละครั้งเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจุยหลายอย่างที่เข้ามากระทบต่อวงจรชีวิต เช่น สภาพแวดล้อม ก่อนเข้าหน้าฝน ถ้าหากสภาพอากาศแห้งแล้ง หนอนวัยสุดท้ายจะฟักตัวนิ่งข้ามปีได้ เพื่อรอจนกว่าจะถึงปีตามปกติ มันจึงจะลอกคราบจากดักแด้ กลายเป็นแมลงทับตัวเต็มวัย
แมงทับอยู่ตามป่าเขาดองไม้ได้ทั่วทั้งประเทศไทย ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ชอบกินใบไม้ครึ่งแก่ครึ่งอ่อน ที่ชอบมากไ้ดแก่ใบพันชาด ใบมะขามเทศ ใบเต็ง ใบพะยอม และใบตะแบกแดง มันกินจุมาก โดยเฉพาะในช่วงที่แดดจัด แม่แมงทับจะวางไข่ไว้ตามโคนต้นเพ็ก หรือไผ่โจด แล้วก็จากไป
แมงทับจับคู่ผสมพันธุ์ในเวลากลางวัน ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการยอมรับของเพศเมีย เมื่อผสมพันธุ์เสร็จตัวเมียวางไข่ที่บริเวณโคนต้นพืชอาหาร ลึกลงในดินประมาณ 1-2 เซนติเมตร วางไข่ทีละฟองจำนวน 1-2 ฟองต่อวัน ตัวเต็มวัยมีชีวิตเพียง 1-3 สัปดาห์ พบมีจำนวนมากที่สุดในเเดือนกันยายนของทุกปี ไข่ฝังอยู่ในดินนาน 2-3 เดือน หนอนวัยที่ 1-4 อาศัยอยู่ในดินแทะกินรากพืช และเหง้าเพ็ก นาน 3-4 เดือน หนอนวัยที่ 4 หยุดกินอาหาร และสร้างปลอกดินหุ้มตัวฝังอยู่ในดินลึก 5-10 เซนติเมตร หนอนวัยสุดท้ายนี้ฟักตัวอยู่ในปลอกดินนาน 12-15 เดือน เมษายนปีแรก-มิถุนายนปีถัดไป จึงเข้าดักแด้ในปลอกดิน ดักแด้นาน 2-3 เดือน เมื่อเป็นตัวเต็มวัยสีเขียวยังคงอาศัยอยุ่ในปลอกดินอีกเกือบเดือน เพื่อให้ปีกแข็งแกร่ง และพร้อมที่จะออกจากปลอกดิน แต่แมงทับต้องคอยจนกว่าฝนจะตกหนัก และมีน้ำฝนไหลลงไปจนถึงปลอกดิน แมงทับจึงดันปลอกดินให้เปิดออก เดินขึ้นมาจากใต้ดิน และเจาะผิวดินเป็นรูปกลม ดันตัวเองขึ้นจากพื้นดิน เมื่อมีแสงแดด จึงบินไปกินอาหาร ผสมพันธุ์ และวางไข่ กว่าจะเป็นเป็นแมงทับแต่ละตัวต้องใช้เวลาอาศัยอยู่ในดินนานถึง 2 ปี เมื่อเป็นตัวเต็มวัยก็มีชีวิตอยู่เพียงแค่ 1-3 สัปดาห์เท่านั้นเอง
แมงทับจะใช้ชีวิตอย่างสำเริงสำราญเป็นอิสระเสรี จับคู่กันผสมพันธุ์แล้วตัวผู้ก็ตามจากไป เหลือไว้แต่เพียงตัวเมียที่ตั้งท้องแล้วไข่ จากนั้นก็ตายตามกันไป จำนวนแมงทับในแต่ละปีมักจะมีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วงเข้าพรรษา ถ้ามีอากาศแห้งแล้ง จะมีจำนวนน้อย
ตอนที่เราเป็นเด็กนั้นป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก เวลาถึงหน้าฝนทีไรเรากับพี่สาว และน้องสาว หลังจากกินข้าวเที่ยง พวกเราก็จะไปหาจับแมงทับกัน อย่างสนุกสนาน เพราะช่วงเที่ยงๆ แดดร้อนๆ พวกแมงทับต่างๆ จะเกาะอยู่ตามยอดไม้ บางตัวก็ผสมพันธุ์กันอยู่ ทำให้จับได้ง่าย เพื่อเอามาให้แม่ทำอาหาร อาหารก็เป็นน้ำพริกแมงทับ เป็นอาหารที่คนอีสานปรุงขึ้นมาแบบง่ายๆ แค่นำแมงทับไปคั่วให้สุก จากนั้นก็เด็ดปีกแข็งๆ และปีกอ่อนด้านในออกให้หมด เราชอบเอาปีกแมงทับมาคัดไว้บนฝากล่องข้าว ดูแล้วสวยดี เมื่อแมงทับเหลือแต่ตัวแล้ว ก็ตำพริกที่จี่แล้วกับกระเทียมให้พอหยาบ และใส่แมงทับลงไป ตำให้ละเอียด แล้วปรุงรสด้วย น้ำปลา ผงชูรส แค่นี้ก็อร่อยเหาะสำหรับพวกเราแล้วค่ะ แต่ปัจจุบันนี้หาแมงทับได้ยากจริงๆ ค่ะ บางทีก็เจอแค่ตัวสองตัว ก็ต้องปล่อยไป สำหรับวันนี้ขอบคุณสำหรับการติดตาม