โดยดานุชัช บุญอรัญ
มหาสารคาม – นิสิต ม.มหาสารคาม ยื่นหนังสือต่อสภาคณาจารย์ให้สอบสวนอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนของนิสิตสาขาพัฒนาชุมชน ที่เปิดโปงการทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ชี้การเปิดโปงการทุจริตของนิสิตไม่ได้ทำลายชื่อเสียง แต่เป็นการรักษาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2561 บริเวณสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มนิสิตอิสระจำนวน 15 คน นำโดยนายกรรตษณะ ประทุมมาตย์ นิสิตสาขาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนและยื่นหนังสือเรียกร้องต่อสภาคณาจารย์ เพื่อขอให้ดำเนินการสอบสวนอาจารย์ในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนนางสาวปณิดา ยศปัญญา นิสิตสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อดีตนิสิตฝึกงานศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ผู้เปิดโปงการทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น กรณีถูกบังคับให้ปลอมแปลงเอกสารเพื่อเบิกเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ติดเชื้อ HIV
โดยให้นางสาวปณิดาไปกราบขอขมาเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ทั้งนี้อาจารย์คนดังกล่าวยังตั้งคณะกรรมการสอบสวนนิสิตเป็นการลับเฉพาะรายบุคคล โดยห้ามญาติและผู้อื่นเข้าไปร่วมรับฟังด้วย
กลุ่มนิสิตอิสระนำโดยนายกรรตษณะ ประทุมมาตย์ (เสื้อขาวกลาง) นิสิตสาขาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มอบหนังสือเรียกร้องต่อนายวิรัติ ปานศิลา ประธานสภาคณาจารย์ขอให้สอบสวนอาจารย์คณะมนุษยและสังคมศาสตร์ ที่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนกับนิสิตที่เปิดโปง การทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น
นายวิรัติ ปานศิลา ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นรับมอบหนังสือร้องเรียนดังกล่าวด้วยตัวเอง พร้อมกล่าวว่า ทางสภาคณาจารย์จะไม่นิ่งเฉยต่อการกระทำของอาจารย์ดังกล่าวที่มีพฤติกรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อนิสิต
เนื้อหาในหนังสือร้องเรียนระบุว่า ขอเรียกร้องต่อประธานสภาคณาจารย์ฯ ให้ดำเนินการสอบสวนและพิจารณาในประเด็นดังนี้
1.อาจารย์ของหลักสูตรได้มีการร่วมกันปกปิดการปลอมแปลงเอกสารเบิกเงินซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่
2.เหตุใดอาจารย์จึงไม่ให้นิสิตดำเนินการแจ้งความเพื่อเป็นการป้องกันนิสิต ซึ่งจะเป็นผลดีต่อนิสิตในภายหลังหากมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด แต่กลับนำนิสิตไปไกล่เกลี่ย และมีการบังคับข่มขืนใจให้นิสิตก้มกราบผู้กระทำผิดหรือไม่
3.มีการใช้มือฟาดนิสิตหรือไม่ และหากมี อาจารย์คนดังกล่าวทำผิดจรรยาบรรณหรือไม่
4.การเรียกนิสิตมาสอบสวนและกระบวนการสอบสวนโดยคณะ ใช้อำนาจถูกต้องหรือไม่ ให้ความเป็นธรรมกับนิสิตหรือไม่ และมีการละเมิดสิทธิของนิสิตหรือคุกคามนิสิตหรือไม่
5.เหตุใดต้องมีการห้ามแชร์ข่าว และการห้ามนิสิตแชร์ข่าว แต่ปล่อยให้นิสิตบางกลุ่มโพสต์ข้อความในเชิงโจมตีนิสิต เป็นการละเมิดสิทธิของนิสิตหรือไม่ และเป็นการปฏิบัติ สองมาตรฐานหรือไม่
6.ให้มีกลไกในการคุ้มครองสิทธินิสิตคนดังกล่าว เนื่องจากกำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 ขณะที่อาจารย์คู่กรณี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการทำพัฒนานิพนธ์ ประธานและกรรมการหลักสูตร และเป็นหัวหน้าภาควิชา ที่อาจอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาผลการเรียน อีกทั้งป้องกันไม่ให้อาจารย์ใช้อำนาจหน้าที่ละเมิดสิทธินิสิตคนดังกล่าวอีก
นายกรรตษณะ ประทุมมาตย์ นิสิตตัวแทนเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกล่าวว่า เหตุผลที่ตนได้ชักชวนเพื่อนนิสิตเดินทางมายื่นหนังสือต่อสภาคณาจารย์ในวันนี้ สืบเนื่องจากได้รับข้อมูลกรณีการกระทำของอาจารย์ซึ่งมีลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนของนางสาวปณิดาจากสื่อต่างๆ กอปรทั้งท่าทีนิ่งเฉยและไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมของมหาวิทยาลัย ตนจึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องรวมพลังกันเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องการกระทำที่กล้าหาญของเพื่อนนิสิตคนดังกล่าว
“การกระทำในวันนี้ นอกจากไม่ได้ทำลายชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยแล้ว ในทางตรงกันข้าม ยังเป็นการรักษาชื่อเสียงและสนองปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่าผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน” นายกรรตษณะกล่าว
นายกรรตษณะยังกล่าวอีกว่า เรื่องของนางสาวปณิดาในวินาทีนี้ ไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องภายใน มหาวิทยาลัยอีกแล้ว เพราะการเปิดโปงการทุจริตของหน่วยงานรัฐของนิสิตตัวเล็กๆ คนเดียว ซึ่งมีการทุจริตเงินจำนวนหลายล้านบาท เป็นสิ่งที่สังคมให้ความสนใจและยกย่อง และในวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น พร้อมองค์กรเอกชนเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น ก็ได้เตรียมมอบเกียรติบัตรส่งเสริมการทำความดีของนิสิตคนดังกล่าว จุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า หากมหาวิทยาลัยมหาสารคามยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในการปกป้องนิสิต ซึ่งกระทำความถูกต้อง ทั้งยังปล่อยให้การกระทำที่มีลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยอาจารย์ของมหาวิทยาลัยที่สามารถกระทำได้โดยไร้ความผิด ก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดจากหลักการของความเป็นสถาบันทางการศึกษาและก่อให้เกิดข้อครหาจากสังคม
“อยากให้มีการตรวจสอบประเด็นทั้ง 6 เรื่อง ตามที่เรายื่นไป อีกทั้งมหาวิทยาลัยเองก็ควรจะสนับสนุนและคุ้มครองผู้กระทำเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม พวกผมมาในวันนี้ก็เพื่อเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยมหาสารคามตอบคำถามต่อสังคม” นายกรรตษณะอธิบาย
หลังจากการรับมอบหนังร้องเรียน นายวิรัติ ปานศิลา ประธานสภาคณาจารย์ แจ้งว่าขณะนี้ภายในห้องประชุมสภาคณาจารย์ อาจารย์คู่กรณี (ไม่ระบุว่าเป็นอาจารย์ประธานหลักสูตรหรืออาจารย์ที่ปรึกษา) ได้เดินทางมาเพื่อทำความเข้าใจและต้องการพุดคุยกับตัวแทนนิสิตที่เดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้ โดยให้กลุ่มนิสิตนั่งรอก่อน
หลังกลุ่มนิสิตนั่งรอผ่านไปราว 2 ชั่วโมง นิสิตส่วนใหญ่จึงตัดสินใจเดินทางกลับ เหลือเพียงนายกรรตษณะและศิษย์เก่าอีกหนึ่งคน
ไม่นานหลังจากนั้น ประธานสภาคณาจารย์ได้เดินมาแจ้งกับนิสิตที่นั่งรอว่า อาจารย์คู่กรณีดังกล่าวได้เดินทางกลับแล้ว จึงต้องการขอพูดคุยกับนายกรรตษณะและศิษย์เก่าอีกหนึ่งคนนั้น
ผู้สื่อข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ดได้ติดตามทั้งคู่เข้าไปนั่งฟังการพูดคุยภายในห้องประชุมสภาคณาจารย์ ปรากฏว่าไม่พบอาจารย์คู่กรณีจริง โดยมีนายวิรัติ ปานศิลา ประธานสภาคณาจารย์ นายประยูร วงจันทรา รองประธานสภาคณาจารย์และนายธวัชชัย ป้องศรี ผู้ช่วยเลขาธิการสภาคณาจารย์ อยู่ภายในห้องเท่านั้น
นายวิรัติกล่าวว่า เบื้องต้นอาจารย์คู่กรณีมีเจตนายอมรับผิดและพร้อมออกแถลงการณ์ยอมรับผิดในการกระทำของตน จึงขอนัดหมายให้นายกรรตษณะ มาให้ข้อมูลในการประชุมใหญ่ของสภาคณาจารย์ในวันที่ 16 ก.พ. ที่จะถึงนี้ พร้อมรับปากจะเสนอเรื่องให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยดำเนินการต่อไป
สืบเนื่องจากกรณี นางสาวปณิดา ยศปัญญา นิสิตสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อดีตนิสิตฝึกงานศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้ออกมาเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะ หลังถูกบังคับให้ปลอมแปลงเอกสารเพื่อเบิกเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ติดเชื้อ HIV ต่อมา มีรายงานข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมของอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประธานหลักสูตรที่นอกจากจะไม่ชื่นชมกับความกล้าหาญของนิสิตคนดังกล่าวแล้ว ยังบังคับให้นางสาวปณิดา “กราบขอขมา” ทั้งยังตั้งคณะกรรมการสอบสวนเป็นการลับเฉพาะรายบุคคล ห้ามญาติและผู้อื่นเข้าไปร่วมรับฟัง
ลำดับเหตุการณ์ อ้างอิงจากคำบอกเล่าของนางสาวปณิดา
- เข้าฝึกงานวันแรก ผอ. และเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ (เรียกโดยไม่เป็นทางการว่า “ครูภาคสนาม” – ผู้เขียน) สั่งให้นางสาวปณิดาพร้อมเพื่อนนักศึกษาฝึกงาน 3คน ปลอมแปลงเอกสารเบิกรับเงิน
- นางสาวปณิดาเห็นข้อผิดสังเกตจึงถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานและนำเรื่องไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ท่านอื่น
- เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้ให้คำปรึกษาถึงความผิดที่อาจเกิดขึ้นจากการปลอมแปลงเอกสาร
- เธอจึงนำเรื่องไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา แต่อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำให้ไปถามครูภาคสนามที่เป็นคนสั่งปลอมเอกสาร นางสาวปณิดาจึงยังไม่กล้าถาม
- ต่อมานางสาวปณิดาลงพื้นที่อำเภอชนบท จ.ขอนแก่น กับครูภาคสนาม เธอพบข้อผิดสังเกตต่างๆ อาทิ ชาวบ้านจำนวนมากระบุว่ายังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ ข้าราชการบำนาญได้รับเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ เป็นต้น
- จึงนำเรื่องการปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวสอบถามผู้ตรวจฯ (ไม่ระบุว่าผู้ตรวจจากหน่วยงานไหน – ผู้เขียน) ผู้ตรวจฯ จึงแนะนำให้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
- นางสาวปณิดานำเรื่องดังกล่าวปรึกษาพ่อแม่ และปรึกษาอาจารย์ด้านกฎหมาย ตัดสินใจจะร้องเรียนในกรณีดังกล่าว จึงตัดสินใจนำเรื่องเข้าปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาอีกครั้ง
- ทางอาจารย์มีการนัดประชุมร่วมกับอาจารย์ประจำหลักสูตรหลายคน
- แต่ทางอาจารย์ประจำหลักสูตรส่วนใหญ่ไม่เชื่อนางสาวปณิดา และได้พาเธอไปไกล่เกลี่ยกับครูภาคสนามที่สั่งให้ปลอมแปลงเอกสาร
- นางสาวปณิดาจึงยังไม่กล้าโต้แย้งเนื่องจากการฝึกงานยังไม่เสร็จสิ้น
- ครูภาคสนามบอกว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้น ผอ.ศูนย์ฯ จะรับผิดชอบเอง
- สุดท้ายทางอาจารย์ตัดสินว่านางสาวปณิดาผิด จึงสั่งให้เธอกราบขอขมาครูภาคสนามคนดังกล่าว
- นางสาวปณิดาจึงตัดสินใจยื่นเรื่องร้องเรียนด้วยตัวเธอเอง แต่การดำเนินเรื่องใช้เวลานาน จนกระทั่งทาง ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ติดต่อมาขอสอบปากคำ เธอจึงตกลง และเธอตัดสินใจบอกเพื่อนนิสิตว่านิติกรขอสอบถามถึงเรื่องดังกล่าว
- ทางอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประธานหลักสูตรจึงนัดพบนิสิตที่ฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ ด่วน เพื่อสอบถามว่าใครเป็นผู้ร้องเรียน โดยมุ่งเป้ามาที่เธอนางสาวปณิดา ขณะนั้น เธอไม่ยอมรับเพราะทาง ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ขอให้ปกปิดเป็นความลับ อาจารย์มีการเดินมาใช้มือฟาดหลังเธอ 2 ครั้ง แล้วบอกว่าเธอทำให้คนอื่นเดือดร้อน
- นางสาวปณิดาตัดสินใจติดต่อให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิพ์ไทยรัฐ
- 8 ก.พ. 2561 หลังจากที่มีหนังสือพิมพ์ลงข่าว ทางคณะฯ ได้เรียกนางสาวปณิดาเข้ามาเพื่อสอบสวนภายในที่ห้องดอกสะแบง โดยมีอาจารย์ 3 ท่าน ประกอบด้วยอาจารย์ประธานหลักสูตร อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ในคณะท่านหนึ่ง เข้าร่วมการสอบปากคำ โดยทางอาจารย์ให้นางสาวปณิดาและเพื่อนที่ร่วมฝึกงานที่เดียวกันเข้าสอบปากคำทีละคน โดยให้มีการค้นตัวเพื่อยึดโทรศัพท์และปิดเครื่อง ส่วนทางอาจารย์มีการบันทึกเสียงของนิสิตขณะทำการสอบสวนไว้
- 9 ก.พ. 2561 อาจารย์ที่ปรึกษาการทำพัฒนานิพนธ์และประธานหลักสูตร ได้เรียกประชุมนิสิตชั้นปีที่ 1-3 ของสาขา ด่วน ที่ห้องประชุมแม่น้ำของในช่วงเช้า โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น และมีการห้ามให้นิสิตทุกคนแบ่งปันข่าวดังกล่าว
- 11 ก.พ. 2561 ป.ป.ท. ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของนิสิตพบว่ามีมูลข้อเท็จจริงตามที่ร้องเรียนทั้งหมด
อ่านข่าวนี้อยู่คะ ถือเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ
ขอแนะนำว่า คราวหน้าเขียนเป็นวลีของคุณเองดีกว่าค่ะ เรายืมภาพมาใช้ได้โดยให้เครดิตภาพ ลอกมาตรงๆแบบนี้ ชีต้ามาแน่ค่ะ เขียนเองดีกว่าค่ะ😊
Downvoting a post can decrease pending rewards and make it less visible. Common reasons:
Submit
ขอบคุณมากที่สนใจบทความของเราครับ ทั้งบทความกับรูปภาพผลิตโดยผู้สื่อข่าวของเราครับ
Downvoting a post can decrease pending rewards and make it less visible. Common reasons:
Submit
พี่ชายแคทไปลอกArtikel ของตัวเองมายังถูกชีต้าจับได้เลยค่ะทั้งไปเป็นของตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยโหวตให้กับ บทความที่มีชีต้าโหวตให้ค่ะ
Downvoting a post can decrease pending rewards and make it less visible. Common reasons:
Submit
อ้อครับ เข้าใจแล้วว่าชีต้าคืออะไร Dankeschön ครับ
Downvoting a post can decrease pending rewards and make it less visible. Common reasons:
Submit
Hi! I am a robot. I just upvoted you! I found similar content that readers might be interested in:
https://isaanrecord.com/2018/02/20/thai-officer-have-been-corruption/
Downvoting a post can decrease pending rewards and make it less visible. Common reasons:
Submit