อัจฉริยะปีกัสโซ [ Genius Picasso ]

in thai •  7 years ago 

  By  NGThai  - April 25, 2018 


 ศิลปะของปีกัสโซสอดประสานชีวิตส่วนตัวกับความสัมพันธ์ของเขา แรงบันดาลใจของเขาคือลูกๆ คนรัก และภรรยา ซึ่งรวมถึงจักเกอลีน โรก ในภาพนี้ ที่บริษัทประมูลคริสตีส์ในนครนิวยอร์ก ผู้ดูแลงานศิลปะขนภาพ “ฟามอักกรูปี (จักเกอลีน)” จากห้องแสดงภาพส่วนตัวสู่โถงแสดงภาพ 


  อัจฉริยะปีกัสโซ

 ปาโบล ปีกัสโซ เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ปี 1881 ที่เมืองมาลากา ในประเทศสเปน เขาเป็นทารกเฉื่อยชาจนคนกลัวว่าจะตายตั้งแต่แรกคลอด ปีกัสโซบอกว่า เขาเกิดใหม่จากควันซิการ์ของลุงซัลบาดอร์ สถานที่สำคัญสมัยวัยเด็กของเขาที่เมืองแดดจัดริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแห่งนี้ยังคงมีชีวิตชีวาในปัจจุบัน คณะนักร้องประสานเสียงร้องเพลง “ความฝันอันสูงสุด” จากละครเวทีเรื่อง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่(Man of La Mancha) ในโบสถ์ซานเตียโกที่ปีกัสโซทำพิธีรับศีลล้างบาปตอนเป็นทารก จัตุรัสปลาซาเดลาเมร์เซดที่เขาร่างภาพวาดภาพแรกๆกลางฝุ่นนอกบ้าน  ทุกวันนี้คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวในร้านกาแฟ และเหล่ายิปซีเช่นผู้คนที่เคยสอนเด็กชายปีกัสโซสูบบุหรี่ทางจมูกและเต้นระบำฟลาเมงโก ยังคงเดินข้ามถนนในเมืองมาลากา 


  แบร์นาร์ รูอิซ-ปีกัสโซ หลานปู่ของปีกัสโซ นั่งจิบชาจากถ้วยสีแดงในลานของพิพิธภัณฑ์ปีกัสโซมาลากา พลางเล่าว่าอิทธิพลยุคแรกๆ เหล่านี้หล่อหลอมศิลปะของปีกัสโซอย่างไร เขาบอกว่า ทุกอย่างที่นี่รุ่มรวยไปด้วยประวัติศาสตร์และความรู้สึกรุนแรง อารยธรรมต่างๆ มาปะทะสังสรรค์กันบนผืนดินที่ปีกัสโซอาศัย ทั้งฟินิเชีย โรมัน ยิว มัวร์ คริสต์ และสเปน กลิ่นหอมโชยฟุ้งในบรรยากาศ แบร์นาร์บุ้ยใบ้ไปยังต้นส้มที่อยู่ใกล้ๆ และบอกว่า ปีกัสโซได้แรงบันดาลใจจากสีของผลไม้ จากดอกสีม่วงของต้นศรีตรัง จากหินสีน้ำตาลอ่อนและขาวของป้อมอัลกาซาบาสมัยศตวรรษที่สิบเอ็ดในมาลากา ซึ่งตั้งอยู่บนเนินคีบรัลฟาโร ห่างจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่กี่ก้าว  


 อัจฉริยะหล่อเลี้ยงตนเองด้วยการทำงานหนัก ปีกัสโซเป็นศิลปินผู้มีผลงานมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ปีกัสโซปารีสอันโอ่อ่าในย่านมาเรคือที่ตั้งของห้องแสดงภาพสาธารณะที่สะสมผลงานของปีกัสโซไว้มากที่สุดในโลก ในภาพนี้ นักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสกำลังชมภาพเหมือนของมารี-เตแรส วัลแตร์ ชู้รักคนหนึ่งของปีกัสโซ 


  “ท่านเก็บสัมผัสเหล่านั้นทั้งหมดไว้ในใจครับ ทั้งภาพ กลิ่น และสี ทุกอย่างหล่อเลี้ยงและเสริมสร้างสมองของท่าน” แบร์นาร์ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ซึ่งเปิดเมื่อปี 2003 ร่วมกับมารดา กริสตีน รูอิซ-ปีกัสโซ เพื่อเติมเต็มความปรารถนาของปู่ บอก  


  เกือบร้อยทั้งร้อยอัจฉริยะมักได้รับการฟูมฟักจากพ่อแม่และครู ผู้หล่อเลี้ยงและบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความยิ่งใหญ่ มารีอา ปีกัสโซ โลเปซ มารดาของปีกัสโซ อธิษฐานขอลูกชายและเชิดชูบูชาลูกคนแรกของเธอ “ย่ารักพ่อมากครับ” โกลด ปีกัสโซ ผู้ดูแลฝ่ายกฎหมายในทรัพย์มรดกทางศิลปะของบิดา บอก ตั้งแต่เด็ก ปาโบลน้อยสื่อสารผ่านศิลปะ เขาวาดรูปตั้งแต่ยังพูดไม่ได้ คำแรกที่เขาพูดคือ “ปิซ” ซึ่งย่อมาจาก ลาปิซ หรือดินสอ ปีกัสโซเจริญรอยตามบิดา โคเซ รูอิซ บลัสโก ผู้เป็นจิตรกรและครูคนแรกของลูกชาย “พ่อเป็นนักเรียนที่ดีที่สุดของปู่ครับ” โกลดเล่า ปีกัสโซยังเป็นเด็กตอนที่ฝีมือทางศิลปะของเขาเริ่มแซงหน้าบิดา ซึ่งอาจ “ไม่เพียงรู้สึกทึ่ง แต่ยังหวั่นเกรงในพรสวรรค์ ของลูกชายด้วย” แบร์นาร์บอก  


  ทักษะฝีมือหรือความชำนาญตั้งแต่วัยเด็กเช่นนั้นมาจากไหน เด็กอัจฉริยะมีน้อยเท่าน้อย จึงยากจะรวบรวมกลุ่มตัวอย่างที่มากพอสำหรับการวิจัยได้ แต่เอลเลน วินเนอร์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการทางสมองและศิลปะจากวิทยาลัยบอสตันพบลักษณะเด่นหลายประการในกลุ่มตัวอย่างที่เธอศึกษา ศิลปินซึ่งเก่งตั้งแต่เด็กมีความทรงจำอันเฉียบคมในสิ่งที่เห็น แสดงความใส่ใจในรายละเอียดได้อย่างน่าทึ่ง และวาดภาพได้สมจริงหรือสร้างมิติความลึกในภาพวาดได้ก่อนเด็กวัยเดียวกันหลายปี วินเนอร์เชื่อว่า เด็กเหล่านี้มีพรสวรรค์แต่กำเนิดซึ่งขับเคลื่อนด้วย “ความอยากเป็นเลิศ” หรือความหลงใหลอันรุนแรงที่กระตุ้นให้พวกเขาอยากเขียนหรือวาดเมื่อใดก็ตามที่เป็นไปได้  


  นักประสาทวิทยาศาสตร์กำลังวัดผลกระทบของศิลปะที่มีต่อสมอง ที่มหาวิทยาลัยฮิวสตันในรัฐเทกซัส ศาสตราจารย์ โคเซ กอนเตรรัส-บีดัล ใช้การสร้างภาพเพื่อบันทึกคลื่นสมองของจิตรกร นักเต้นรำ และนักดนตรี ภาพบนผนัง แสดงกิจกรรมทางสมองของศิลปินแต่ละคน สักวันหนึ่งประสาทวิทยาศาสตร์อาจไขปริศนาชีววิทยาเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ได้  


  คุณลักษณะเหล่านี้รวมอยู่ในตัวปีกัสโซ ผู้คุยโวเรื่องฝีมือทางศิลปะอันเหนือชั้นของตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก หลังได้ชมนิทรรศการศิลปะเด็กเมื่อปี 1946 เขาเอ่ยข้อความที่โด่งดังว่า เขาไม่มีวันเข้าร่วมงานแบบนี้เพราะ “ตอนอายุ 12 ผมก็วาดเหมือนราฟาเอลแล้ว” สมาชิกในครอบครัวเล่าว่า ตอนเป็นเด็ก ปีกัสโซจะวาดรูปซึ่งบางครั้งก็ทำตามคำขอครั้งละหลายชั่วโมงจนวาดไม่ไหว งานชิ้นแรกๆของเขาที่ยังอยู่ในปัจจุบันเชื่อว่ามีอายุย้อนกลับไปได้ถึงปี 1890 ตอนนั้นปีกัสโซมีอายุเก้าขวบ โดยมีภาพวาดสีน้ำมัน “เลปีกาดอร์” ซึ่งเป็นภาพนักสู้วัวกระทิงบนหลังม้ารวมอยู่ด้วย  


  ภายในไม่กี่ปี ปีกัสโซก็วาดภาพเหมือนของครอบครัวและเพื่อนฝูงได้อย่างช่ำชอง พออายุ 16 ปี ผลงานศิลปะก็ส่งให้เขาได้เรียนที่ราชบัณฑิตยสถานวิจิตรศิลป์ซานเฟร์นันโดอันทรงเกียรติในกรุงมาดริด ซึ่งเขาได้ศึกษางานของบรมครูชาวสเปนที่เขานับถือ รวมถึงเดียโก เบลัซเกซ และเอลเกรโก  


 มรดกของอัจฉริยะยังคงครอบงำในสมาชิกครอบครัว โอลีวีเย วิดไมเออร์ ปีกัสโซ ไม่เคยรู้จักคุณตาของเขา แต่เขียนหนังสือสองเล่มเกี่ยวกับปีกัสโซ “เพื่อให้มีบันทึกที่ถูกต้องเรื่องข่าวลือต่างๆ ตำนาน และข้อเท็จจริงครับ” เขาบอก โอลีวีเยเรียนจบด้านกฎหมายและเป็นตัวแทนเจรจากับซีตรอง บริษัทรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส เพื่อผลิตรถรุ่นปีกัสโซ 


  เด็กอัจฉริยะส่วนใหญ่ไม่ได้โตขึ้นมาเป็นอัจฉริยะ ไม่ว่าจะฝีมือดีไร้ที่ติเพียงใด อัจฉริยะต้องมีบุคลิกภาพโดดเด่นและท้าทาย เสริมด้วยความกล้าและวิสัยทัศน์ที่จะปฏิวัติวงการ ปีกัสโซยังเป็นแค่เด็กชายตอนที่ปอล เซซาน, ชอร์ช เซอรา และศิลปินแนวอิมเพรสชันนิสม์ยุคหลังคนอื่นๆปลดปล่อยตัวเองจากขนบอิมเพรสชันนิสม์ที่ใช้สีสันสดใสมาเป็นการใช้รูปทรงที่ชัดเจนและเติมความเข้มข้นทางอารมณ์ลงบนผืนผ้าใบ  


  เมื่อถึงยุคของเขา ปีกัสโซก้าวไปอีกขั้นด้วยความรุนแรงราวกระทิงหนุ่ม ภาพวาด “เลเดอมัวแซลดาวีญง” (“Les Demoiselles d’Avignon”) เมื่อปี 1907 ของเขาปฏิรูปขนบเดิมๆของการจัดองค์ประกอบ ทัศนมิติ และความสุนทรีย์ ในภาพแสดงถึงหญิงเปลือยห้าคนที่ซ่องโสเภณีแห่งหนึ่ง ใบหน้าของพวกเธอบิดเบี้ยว ร่างกายเป็นรอยหยัก แม้กระทั่งพวกเพื่อนสนิทของเขายังตกใจ แต่ภาพนั้นจะกลายเป็นหมุดหมายของขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่พลิกโลกอย่างคิวบิสม์ และ พุ่งขึ้นสู่อันดับหนึ่งของรายการภาพเขียนสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ  


  โกลด ลูกชายของเขาบอกว่า ศิลปะของปีกัสโซไม่เคยมุ่งเอาใจใคร เขาไม่รับค่าจ้าง แต่วาดสิ่งที่อยากวาดและคาดหวังว่าผู้คนจะสนใจ แล้วทำไมเราจึงรู้สึกว่าภาพวาดของเขาดึงดูดใจนัก วิทยาศาสตร์ให้คำตอบที่น่าสนใจไม่แพ้กันในศาสตร์ใหม่ด้านประสาทสุนทรียศาสตร์ (neuroaesthetics) นักวิจัยใช้ภาพถ่ายสมองทำความเข้าใจการตอบสนองที่คนเรามีต่อศิลปะ ตั้งแต่ภาพดอกบัวของโกลด โมเน ไปจนถึงสารพัดสี่เหลี่ยมของมาร์ก รอทโก  


 พรสวรรค์ของปีกัสโซเริ่มฉายแววที่บ้านเกิดในเมืองมาลากาที่ซึ่งเขาใช้ชีวิตช่วงวัยเด็ก ทุกวันนี้ ผลงานของเขาพบเห็น ได้ทั่วเมือง รวมถึงภาพกราฟฟิตีเลียนแบบภาพวาดของเปาโล ลูกชายคนแรกของปีกัสโซ ที่แต่งชุดตัวตลกเมื่อปี 1924 ภาพนี้ 


  ในการศึกษาชิ้นหนึ่ง เอดเวิร์ด เวสเซล นักประสาทวิทยาศาสตร์จากสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อสุนทรียศาสตร์เชิงประจักษ์ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต สแกนสมองของคนขณะจัดลำดับปฏิกิริยาที่พวกเขามีต่อภาพถ่ายงานศิลปะกว่าหนึ่งร้อยภาพ โดยให้คะแนนตั้งแต่หนึ่งถึงสี่ (สี่คือประทับใจมากที่สุด) ไม่น่าประหลาดใจที่ระบบการรับภาพของผู้เข้าร่วมงานวิจัยทำงานทุกครั้งที่พวกเขาชมภาพ แต่มีเพียงงานศิลปะที่ประทับใจที่สุด หรือภาพที่ถูกมองว่าสวยเป็นพิเศษ น่าตื่นตาหรือจับใจ จะกระตุ้นให้วงจร “โครงข่ายค่าเริ่มต้น” (default mode network) ของสมองทำงาน วงจรดังกล่าวทำให้เราเพ่งความสนใจสู่ภายใน และเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดอันเป็นส่วนตัวที่สุดของเราได้  


  เวสเซลบอกว่า สมดุลของการมองเห็นภายนอกและการครุ่นคิดภายในเช่นนั้นไม่ธรรมดา “มันคือสภาวะพิเศษของสมองครับ” เนิ่นนานก่อนที่วิทยาศาสตร์ด้านสมองจะปะติดปะต่อเรื่องนี้ ปีกัสโซดูจะเข้าใจพลวัตนี้มานานแล้ว เขาเคยพูดไว้ว่า “ภาพจะมีชีวิตก็โดยผ่านคนที่ชมมันเท่านั้น”  


เรื่อง คลอเดีย คัลบ์ 

ภาพถ่าย เปาโล วูดส์ และกาบรีเอเล กาลิมแบร์ตี  


Authors get paid when people like you upvote their post.
If you enjoyed what you read here, create your account today and start earning FREE STEEM!